กำเนิดชนชาติภูไท หรือ ผู้ไทย
***นักปราชญ์ทางวิชาประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ได้ลงความเห็นว่า ในพิภพนี้มีมนุษย์เกิดขึ้นเป็นเวลาประมาณแสนปีมาแล้ว และคาดคะเนว่าดินแดนอันเป็นที่กำเนิดของมนุษย์ดั้งเดิมนั้นอยู่ใจกลางชมพูทวีป แถวภูเขาอันไต อันเป็นดินแดนภาคใต้ของมองโกลในปัจจุบันนี้
*** มนุษย์ที่เกิดจากใจกลางชมพูทวีปมีหลายชนชาติ แต่ชนชาติใหญ่ๆที่ตั้งหลักฐานหากินอยู่ในด้านอาชีพนี้ ๔ ชนชาติ คือ ๑. ชนชาติจีน อาศัยอยู่ในดินแดนรอบๆทะเลสาปแคสเปียน ทางทิศตะวัน ออกเฉียงใต้ หากินด้วยการเลี้ยงสัตว์ ๒. ชนชาติตาด อาศัยอยู่ในดินแดนตามเลียบทะเลทราย ใช้ม้าเป็นพาหนะ หากินด้วยการปล้น ๓. ชนชาติชะนงยู้ อาศัยอยู่ในดินแดนประเทศกเว (เกาหลี) ตลอดถึงมองโกล หากินด้วยการปล้น ๔. ชนชาติอ้ายลาว อาศัยอยู่ในดินแดนระหว่างแม่น้ำฮวงโห กับแม่น้ำยั้งจี้ (แยงชีเกียง) หากินด้วยการกสิกรรม ชนชาติภูไทหรือ ผู้ไทย ***เป็นชนชาติหนึ่งที่ตั้งหลักฐานบ้านเรือนปะปนอาศัยอยู่รวมกับกลุ่มคนชนชาติต่างๆ ในอดีต คือ จีน ลาว พวน ไท ญ้อ ภูไท ฯลฯ มีนิสัยส่วนตัวรักความสงบ อยู่กันอย่างสันติ มีความรักหวงแหนในเผ่าพันธุ์ มีขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การแต่งกาย ดนตรี ความเชื่อและภาษพูดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ดังนั้นจึงมีการหลอมรวมขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน รวมกลุ่มเรียกตนเองเป็นกลุ่มชนชาติอ้ายลาวในอดีตนั่นเอง ปัจจุบันนี้ คนชนชาติภูไทหรือผู้ไทย มีอาศัยตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศจีน ลาว พม่า เวียตนาม และไทย เป็นจำนวนมาก ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีและเคารพวิญญานบรรพบุรุษ การแต่งกาย ดนตรี และภาษาพูด ไว้เช่นในอดีตอย่างเดียวกัน กำเนิดคำว่า ภูไท หรือ ผู้ไทย หรือ คนไต ทั้ง ๓ คำนี้ เป็นคำที่มีความหมายเดียวกันเป็นคำที่ใช้เรียกคนชนชาติเดียวกัน หนังสือนิทานขุนบรมราชาธิราชกล่าวไว้ว่า คนชาติภูไทนี้ เกิดจากน้ำเต้าใหญ่ ๒ หน่วย และมีนักปราชญ์หลายท่านให้ความเห็นไว้ว่า คำว่า ภูไท หรือ ผู้ไทย หรือ คนไต เป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำว่าเทียน แถน ไท้ ซึ่งหมายถึง ฟ้า หรือ ดวงดาว คนชนชาตินี้รักความอิสระ ชอบอาศัยอยู่ในที่สูง คือภูเขา มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่ากลุ่มชนชาติใดๆ มีความเชื่อในการนับถือลัทธิผีฟ้า และเคารพวิญญานบรรพบุรุษ ชนชาติภูไท หรือ ผู้ไทย ได้ตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่ในดินแดนอ้ายลาว รวมกลุ่มอยู่กับชนชาติต่างๆ อยู่ในประเทศจีนหรือมณฑลเสสวนทุกวันนี้ มีเมืองใหญ่ ๓ เมือง คือ ๑. เมืองลุง (นครลุง) อยู่ตอนต้นของแม่น้ำฮวงโหด้านเหนือ ๒. เมืองปา (นครปา) อยู่ตอนใต้แม่น้ำฮวงโห เหนือเมืองเสสวน ซึ่งเป็น เมืองใหญ่และมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ๓. เมืองเงี้ยว(นครเงี้ยว) อยู่ทางใต้ของเมืองลุงและเมืองปา *** พงศาวดารจีน บันทึกไว้ว่า เมื่อประมาณ (ก่อน ค.ศ.๘๔๓) พวกชนชาติตาด ได้เข้ามารบชนชาติจีน แล้วล่วงเลยเข้ามารบพวกชนชาติอ้ายลาวที่เมืองลุง ชนชาติอ้ายลาวที่รักสันติ รักความสงบ จึงอพยพหนีลงมาอยู่ที่เมืองปา ต่อมาอีกประมาณ ๗๐ ปี พวกจีนมีกำลังมากขึ้นจึงยกทัพมารบนครปาและนครเงี้ยว ชนชาติอ้ายลาวจึงอพยพลงมาอยู่ทางใต้ของเมืองเสฉวน ตลอดลงมาถึงเมืองกุยจิว กวางตุ้ง กวางใส และเมืองยูนาน เป็นอันมาก (เวลานั้นพวกจีนเรียกพวกอ้ายลาวว่า ไต ) แต่ชนชาติอ้ายลาวก็ยังคงรักษาเอกราชเมืองปาและเมืองเงี้ยวไว้ได้ *** ปี พ.ศ.๒๐๕ (ก่อน ค.ศ.๓๓๘) พวกอ้ายลาวที่นครปาถูกจีนรุกรานสู้ไม่ได้ จึงได้ถอยลงมารวมกับพวกที่มาก่อนที่นครเงี้ยว และในปี พ.ศ.๒๙๗(ก่อน ค.ศ.๒๔๖) พระเจ้าแผ่นดินจีนนามว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ ผู้สร้างกำแพงเมืองจีนยาว ๑,๐๐๐ ลี้(๑ ลี้ เท่ากับ ๕๐๐ เมตร) ได้ยกทัพมาตี นครเงี้ยวของอ้ายลาวหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จและได้รบติดพันกันมาถึงปี พ.ศ.๓๒๘ (ก่อน ค.ศ.๒๑๕) นครเงี้ยวจึงได้เสียเมืองให้แก่จีน พวกอ้ายลาวจึงได้อพยพลงมาทางใต้ และได้รวมกันตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่ชื่อ นครเพงาย มีขุนเม้า(ขุนเมือง)เป็นกษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดินจีนนามว่า วู้ตี้ฮ่องเต้ ได้แต่งทูตไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ทูตจีนคณะนั้นจะเดินทางผ่านนครเพงาย เจ้าขุนเม้าไม่ยอมให้ผ่านไป พระเจ้าวู้ตี้ฮ่องเต้ ไม่พอใจมากจึงยกกองทัพมาตีนครเพงาย อยู่หลายปี สุดท้ายนครเพงายได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนในปี พ.ศ.๔๕๖ ปี พ.ศ.๕๕๒ (ค.ศ.๙) ประเทศจีนเกิดการวุ่นวาย ขุนวังเมืองกษัตริย์ผู้สืบสกุลเมืองนครเพงาย เห็นเป็นโอกาสดี จึงประกาศอิสระภาพไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของจีน และได้ครองเมืองเป็นเอกราชต่อมาถึงปี พ.ศ.๕๙๓ (ค.ศ.๕๐) จีนได้เข้ารุกรานและได้ตกเป็นเมืองขึ้นของจีนอีกครั้ง ในระหว่างนี้ พวกอ้ายลาวได้แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ ๑. พวกที่อยู่นครเพงาย เรียกตนเองว่าพวกอ้ายลาว ๒. พวกที่อพยพหนีลงมาทางใต้เรื่อยๆ เรียกตนเองว่าพวกงายลาว *** พ.ศ.๖๐๐ เศษ (ค.ศ.๕๗) พระเจ้ามิ่งตี้ฮ่องเต้ พระเจ้าแผ่นดินจีนมีความเลื่อมใสศรัทธาและได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศจีน ในสมัยนั้นพระเจ้าแผ่นดินของอ้ายลาว คือ ขุนหลวงลี้เมาอยู่นครงายลาว ก็ได้นับถือพระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ.๖๑๒ แต่เป็นฝ่ายลัทธิมหายาน ถึงปี พ.ศ.๖๒๑(ค.ศ.๗๘) ขุนไลลาด ราชโอรสได้ครองเมืองแทน เวลานั้นพวกจีนถือว่า นครงายลาวเป็นเมืองขึ้นของจีน จึงได้ส่งขุนนางมากำกับดูแล ขุนไลลาดไม่ยอมพวกจีนจึงยกกองทัพมาตีนครงายลาว พวกอ้ายลาวจึงตกเป็นเมืองขึ้นของจีนและจีนได้บังคับให้พวกอ้ายลาวเสียส่วย ชายหนุ่มคนหนึ่งให้เสียส่วย เสื้อสองตัวกับเกลือห่อหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาพวกอ้ายลาวจึงพากันอพยพลงมาทางใต้เรื่อยๆ และได้มาตั้งหลักฐานบ้านเรือนอยู่รอบๆ หนองแสหรือ หนองกะแสแสนย่าน(ปัจจุบันจีนเรียกว่า ตาลิฟู) อยู่ในเขตแขวงมณฑลยูนานของจีนทุกวันนี้ พอดีในช่วงนั้น พวกจีนได้เกิดแตกแยกกันออกเป็นสามพวก (สามก๊ก) คือ โจโฉพวกหนึ่ง เล่าปี่พวกหนึ่ง ซุ่นกวนพวกหนึ่ง อาศัยที่พวกจีนแตกแยกต่อสู้กันเองอยู่นั้น พวกอ้ายลาวจึงได้โอกาสตั้งตัว และสร้างเมืองใหญ่ขึ้นได้รวม ๖ เมืองคือ ๑. เมืองสุย (เมืองมงชุ่ย) ๒. เมืองเอ้ยเช้ (เมืองเอ้ยเช้) ๓. เมืองล้านกุง (เมืองล้างกง) ๔. เมืองท่งช้าง (เมืองเท้งเชี้ยง) ๕. เมืองเชียงล้าน (เมืองชีล้าง) ๖. เมืองหนองแสน (เมืองม้งเส) *** เมืองหนองแส เป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองหลวงของประเทศ จึงเรียกนามของประเทศในเวลานั้นว่า อาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า พวกอ้ายลาวได้ตั้งตัวเป็นเอกราช ปกครองบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองต่อมากว่า ๑๐๐ ปี ถึง พ.ศ.๗๖๘ (ค.ศ.๒๒๕) ขงเบ้ง แม่ทัพคนสำคัญของเล่าปี่ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้าอยู่หลายปี สุดท้ายพวกอ้ายลาวต้องยอมเป็นเมืองขึ้นของจีนอีกครั้ง พวกอ้ายลาวถูกพวกจีนเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงอยู่เสมอ พวกอ้ายลาวบางส่วนจึงอพยพลงมาทางใต้เรื่อยๆ ถึง พ.ศ.๙๓๘ (ค.ศ.๓๙๕) พวกอ้ายลาวทั้ง ๖ เมืองเดิมได้ตั้งตัวเป็นอิสระอีกครั้งและปกครองกันเอง ต่อมาถึง พ.ศ.๑๑๙๒ (ค.ศ.๖๔๙) กษัตริย์เมืองหนองแสองค์หนึ่ง พระนามว่า สีหะนะวะ หรือ สีนุโล (จีนเรียก ชิวโน้วหล้อได้รวบรวมเมืองทั้ง ๖ เป็นอาณาหนองแส หรือน่านเจ้าอีกครั้ง ตั้งแต่นั้นมาอาณาจักรหนองแสหรือน่านเจ้าจึงกลับมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งใหญ่และขยายอาณาเขตกว้างขวางขึ้น พระเจ้าแผ่นดินนครหนองแส จึงได้ส่งราชทูตไปเจริญ สัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินจีน นามว่า เกาจงฮ่องเต้ ก็ทรงต้อนรับเป็นอย่างดี ต่อมาถึง พ.ศ.๑๒๒๘ (ค.ศ.๖๘๕) พระเจ้าโลเช้ง ราชโอรสเมืองหนองแส ได้ขึ้นเสวยราชพระองค์ก็ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนเรื่อยมา คือ ในปี พ.ศ.๑๒๓๓ (ค.ศ.๖๙๐) พระองค์ได้เสด็จไปประเทศจีนในงานราชาภิเษก พระนางบูเช็กเทียน หลังพระเจ้าโลเช้งสิ้นพระชนม์ได้มีกษัตริย์ปกครองต่อมาอีกสามพระองค์ จึงมาถึง พระเจ้าพิล้อโก้ หรือ ขุนบรมราชาธิราช เป็นกษัตริย์อาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า ผู้กล้าหาญ ทรงชำนาญในการสงครามอย่างเยี่ยมยอดยิ่ง ได้ทรงแผ่ขยายอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า ให้กว้างขวางมากที่สุด พระองค์ได้ขึ้นเสวยราชสมบัตินครหนองแส พ.ศ.๑๒๗๒ (ค.ศ.๗๒๙) เมื่อพระชนม์ได้ ๓๒ ปี และได้ส่งราชทูตไปเจริญ สัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินจีน คือ หงวนจงเพ้งฮ่องเต้ ทรงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ขุนบรมราชาธิราช พระเจ้าแผ่นดินหนองแสหรือ จีนเรียกว่า น่านเจ้าอ๋อง ประทับอยู่เมืองหนองแส ทรงพิจารณาเห็นว่า ประเทศจีนก็มีกำลังเข้มแข็งและเคยยกกองทัพมาตีเมือง หนองแสอยู่เสมอในอดีต ถึงแม้นพระองค์จะได้เจริญสัมพันธไมตรีไว้แล้วก็ยังไม่มีความเชื่อใจได้ ดังนั้น ในปี พ.ศ.๑๒๒๗(ค.ศ.๗๓๑) พระองค์จึงได้ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่ ทุ่งนาน้อยอ้อยหนู และตั้งชื่อเมืองใหม่นี้ว่า เมืองแถน หรือ เมืองกาหลง และพระองค์ก็ทรงประทับที่ เมืองแถน หรือเมืองกาหลงนี้ถึง ๘ ปี ในระหว่างที่ประทับนั้นพระองค์ได้ยกทัพขึ้นไปตีเอาหัวเมืองของประเทศจีนอันอยู่ในเขตแดนธิเบตได้หลายเมืองและพระองค์ได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกในดินแดนที่ตีเมืองได้ เรียกว่า เมืองตาห้อ หรือ หอแต เมืองนี้อยู่ห่างจากเมืองหนองแสไปทางเหนือ ๔๐ ลี้ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับที่เมืองตาห้อ ในปี พ.ศ.๑๒๘๓ (ค.ศ.๗๔๐) ขุนบรมราชาธิราช มีพระโอรสประสูติจาก พระนางยมพาลา เอกอัครมเหสี และพระนางเอ็ดแคง เทวีซ้าย ที่มีชื่ปรากฎ อยู่ จำนวน ๗ องค์ ในหนังสือล้านช้างกล่าวไว้ว่า พระราชโอรสของขุนบรมราชาธิราช เมื่อโตขึ้นได้ไปครองเมืองต่างๆ ดังนี้ ๑. ขุนลอ ครองเมืองล้านช้าง ๒. ท้าวผาล้าน ครองเมืองตาห้อ หรือ หอแต ๓. ท้าวจูสง ครองเมืองจุลนี คือ เมืองแกว ๔. ท้าวคำผง ครองเมืองโยนก คือ ลานนา ๕. ท้าวอิน ครองเมืองล้านเพีย คือ อยุธยา ๖. ท้าวกม ครองเมืองหล้าคำม่วน ๗. ท้าวเจือง ครองเมืองปะกัน เชียงขวาง *** ถึงปี พ.ศ.๑๒๘๖ (ค.ศ.๗๔๓) ขุนบรมราชาธิราช ได้ทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินจีน นามว่าพระเจ้าเฮี้ยนจงอิดฮ่องเต้ แล้วจึงเสด็จกลับมาเสวยราชสมบัติอยู่นครหนองแส ถึงปี พ.ศ.๑๒๙๒ (ค.ศ.๗๔๙) ก็เสด็จสวรรคต รวมพระชนม์ได้ ๕๓ ปี *** ในพงศาวดารจีนชื่อ "ยี่จับสี่ซื้อ" กล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้าพิล้อโก้ (ขุนบรมราชาธิราช) เสด็จสวรรคตแล้ว พระโอรสนามว่า โก้ะล้อผง( คือขุนลอ ) ซึ่งเวลานั้นประทับปกครองเมืองแถน หรือเมืองกาหลงอยู่ และได้เสด็จกลับนครหนองแสขึ้นครองราชสมบัติอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้าแทนพระบิดาและได้แต่งราชทูตไปเจริญราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินจีนดั่งเดิม ต่อมาพระองค์เสด็จไปประพาสทางเขตแดนจีนถึงเมืองฮุนหนำ ข้าราชการจีนผู้รักษาเมืองไม่ทำความเคารพ พระองค์มีความขัดเคืองพระทัยมาก จึงได้ยกกองทัพไปตีเอาเขตแดนจีนได้หัวเมืองต่างๆในแขวงฮุนหนำถึง ๓๒ เมือง แล้วพระองค์ทรงประทับอยู่เมืองฮุนหนำถึง พ.ศ.๑๒๙๔ (ค.ศ.๗๕๑) พระเจ้าแผ่นดินจีนยกทัพหลวงมาจะตีเอาเมืองฮุนหนำคืน พระเจ้าโก้ะล้อผง หรือ ขุนลอ จึงแต่งทูตไปหาแม่ทัพจีนขอเป็นไมตรีและจะส่งเมืองคืนให้หลายเมือง แม่ทัพจีนไม่ยอมจับราชทูตไป ขังไว้ แล้วยกกองทัพเข้าตีเมืองฮุนหนำ พระเจ้าโก้ะล้อผง หรือ ขุนลอ ตีทัพจีนแตกคืนไปหมด แล้วพระองค์พิจารณาเห็นว่าพวกจีนคงจะยกกองทัพลงมารบอีก จึงได้ไปทำไมตรีไว้กับพระเจ้าแผ่นดินธิเบต ถึงปี พ.ศ.๑๒๙๗ (ค.ศ.๗๕๔) พวกจีนได้ยกกองทัพมาตีเมืองฮุนหนำอีกครั้ง ขุนลอได้สร้างกลศึกหลอกกองทัพจีนเข้าไปถึงเมืองตาห้อ หรือหอแต แล้วแต่งกองทัพมาสกัด ด่านไว้ กองทหารจีนขาดเสบียงอาหารและเกิดโรคอหิวาขึ้นในกองทัพ จึงพากันถอยหนี ขุนลอนำทหารตามตีฆ่าฟันทหารจีนตายลงเป็นจำนวนมาก ราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า ได้รับความเจริญรุ่งเรืองและกว้างใหญ่ไพศาลมาตั้งแต่สมัยของ พระเจ้าสินุโล มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง ๑๓ องค์ คิดเป็นเวลานานถึง ๒๕๕ ปี *** ต่อจากนั้นมาราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า ก็มีราชวงค์ที่มีเชื้อสายปะปนกับจีนปกครองบ้านเมือง ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม จึงได้หลอมรวม เปลี่ยนแปลงเข้าด้วยกัน มาถึงปี พ.ศ.๑๗๙๗(ค.ศ.๑๒๔๔) พวกมองโกล คือ พระเจ้าแผ่นดินจีนราชวงค์ หงวนตี้ ได้ปกครองเมืองจีนทั้งหมด แล้วแผ่ขยายอำนาจและอาณาเขตลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ และเข้าตีราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า ได้ ดังนั้น ราชอาณาจักรหนองแส หรือน่านเจ้า จึงหมดอิสระภาพตกเป็นประเทศราชของประเทศจีนตั้งแต่นั้นมา กลุ่มชนชาติที่รักสงบ รักความเป็นอิสระ จึงได้อพยพลูกหลานลงมาทางใต้เรื่อยๆ ชนชาติภูไท หรือผู้ไทย ก็เป็นกลุ่มชนชาติหนึ่งที่อพยพลงมาในครั้งนั้น และได้ตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่เป็นหลายเมือง ทุกเมืองยังคงอนุรักษ์ สืบทอดขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามไว้อย่างเหนียวแน่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พระยาแถน(ขุนบรมราชาธิราช) บรรพบุรุษของชนชาติภูไทหรือผู้ไทย คนภูไท หรือ ผู้ไทย มีกำเนิดความเป็นมาอย่างไรไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน แต่ จากการสืบค้นประวัติศาสตร์ลาว ได้บันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ.๑๒๒๗(ค.ศ.๖๘๔) ขุนบรมราชาธิราช เป็นกษัตริย์นักรบผู้กล้าหาญของอาณาจักรหนองแสหรือน่านเจ้า พระองค์แรกผู้สร้าง เมืองแถน ขึ้นที่ ทุ่งนาน้อยอ้อยหนู ชาวเมืองเรียกพระนามเจ้าเมืองว่า พระยาแถน พงศาวดารล้านช้าง และพงศาวดารเมืองหลวงพระบาง บันทึกไว้ว่า "ครั้งเมื่อสมัยบุราณ นานมาแล้วโน้น แผ่นดินที่เฮาอยู่อาศัยนี้ คงเป็นดินเป็นหญ้า มีฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเทียวไปมาหากันบ่ขาด ..คนเฮาสร้างบ้านอยู่เมืองลุ่ม กินปลา เฮ็ดนา กินข้าว คนเมืองลุ่มนี้ กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินซี้นให้ส่งขา ได้กินปลาให้ส่งฮอย แก่แถน เดิมนั้นคนเรายังไม่มีความคิด ความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและวิญญาน หรือภูติผีสางเทวดา ตลอดจนเรื่องราวอิทธิฤทธิ์ ปาฎิหาริย์ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจเหมือนปัจจุบันนี้ ต่อมาคนเราได้แบ่งกันออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีกำลัง มีอำนาจมากกว่า เป็นหัวหน้าหรือ ผู้นำ และกลุ่มที่มีกำลังน้อยกว่า เป็นชาวบ้านธรรมดาคอยปฎิบัติตามคำสั่งของคนกลุ่มแรก มีเรื่องเล่าขานกันว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัย หรืออัคคีภัย หรือวาตภัยจากธรรมชาติเกิดขึ้น ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตทางใจ ก็เลยนึกว่า พระยาแถน โกรธบันดาลโทสะ มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดอุทกภัยขึ้นชาวบ้านได้หนีตายขึ้นไปอยู่ในที่สูงหรือเมืองบน พระยาแถนก็รับไว้ แต่พออยู่ไปนานๆ ก็ไม่สามารถจะอยู่ได้ พระยาแถน จึงได้พาลงไปส่งให้อยู่ที่หนึ่ง พร้อมกันนั้นก็ให้ควายเขาลู่ไปเพื่อให้ทำไร่ไถนากินกันต่อไป บริเวณที่ไปอยู่นั้นเรียกว่า "นาน้อย อ้อยหนู" ต่อๆ มา เมื่อมีผู้มีบุญเป็นศรีแก่บ้านแก่เมืองเกิดขึ้นคือ ขุนบรมราชาธิราช ได้สร้างเมืองแถน ขึ้นที่ ทุ่งนาน้อย อ้อยหนู จึงได้ชักชวนแนะนำชาวบ้านให้รู้จักวิธีการทำไร่ไถนา ปลูกผักปลูกหญ้า ปลูกผลหมากรากไม้ หัวมันทั้งมวล อันควรกินควรเก็บ จึงเกิดมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนและบ้านเมืองค่อยพัฒนา มีความสุข ความสะดวกสบาย มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง เกิดมีคติวัฒนธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี ดนตรี ศิลปะ ศาสนา ความเชื่อถือในเรื่องวิญญานผีปู่ ผีย่า ผีปู่ทวด ตาทวด และมีการกราบไหว้บูชาตราบเท่า ทุกวันนี้ ขุนบรมราชาธิราช กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองแถน มีมเหสี ๒ องค์คือ พระนางแอกแดง (เอคแคง) มีโอรส ๔ องค์ และพระนางยมพาลา มีโอรส ๓ องค์ รวม ๗ องค์ เมื่อพระโอรส เติบโตขึ้น จึงได้ให้ไปสร้างเมืองต่างๆ พร้อมมอบทรัพย์สมบัติ แก้ว แหวน ดังนี้ ๑. ขุนลอ ให้ไปสร้างเมืองชวา คือ กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว หลวงพระบาง มอบทรัพย์สมบัติ คือ ฆ้องราง ง้าวตาว แม่วี แหวนธำมรงค์ เลื่อมแสงใส มณีโชติ ๒. ยีผาล้าน ให้ไปสร้างเมืองหอแต มอบทรัพย์สมบัติคือ หอกมงคลคันคำ หน่วย ปัทมราช โชติแสงสิงตะวัน ๓. สามจูสง ให้ไปสร้างเมืองแกวช่องบัว มอบทรัพย์สมบัติ คือ เกิบเงิน ดาบฝักคำ หน่วยมุกตั้ง เลื่อมผิวเงินเลียงล่องนาคราช ๔. ไสผง ให้ไปสร้างเมืองยวนโยนก เมืองลานนา หงสาวดี มอบทรัพย์สมบัติ คือ หน้าซองคำ แล่งชายคำ หน่วยเพชร เชิดตั้งแย้งแผ่นบาดาล ๕. งัวอิน ให้ไปสร้างเมืองชาวใต้ คือ อโยธยา มอบทรัพย์สมบัติ คือ ง้าวปากไชย ดาบมาศ หมากนิลเลื่อม ผ่านส่องแสง ๖. ลกกลม ให้ไปสร้างเมืองเชียงคม คือ อินทปัต(เขมร) มอบทรัพย์สมบัติ คือ ดาบเหล็กพวนฝักถักหวาย อัมพา ผ่องผายงาม ปัดตลอดลิงลำไว้ห้า ๗. เจ็ดเจิง ให้ไปสร้างเมืองพวน(เชียงขวาง) มอบทรัพย์สมบัติ คือ ตาวรางกวน หน่วยปัดคำแสง เลื่อมลายหลากแก้ว ขุนบรมราชาธิราช ได้ทรงให้โอวาทและแนะนำพร่ำสอนและย้ำเตือนพระโอรสทั้ง ๗ องค์ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปครั้งสุดท้าย ดังนี้ " ถ้าผู้ใดไปสร้างบ้านแต่งเมือง มีบุญญานุภาพมาก ให้เร่งตั้งอยู่ในทางยุติธรรม อย่าได้คิดทัพศึกสงครามยกไปรบพุ่งเบียดเบียน ตีชิงเอาบ้านเมืองแก่กันและกันผู้ใดอยู่ในยุติธรรมตามคำของบิดานี้ ให้ผู้นั้นมีความสุขความเจริญยิ่งๆขึ้นไป ." " ..เจ้าพี่น้องหากแม้นลูกกูผู้เดียวดาย เมื่อกูตายไปอยู่ลูกหลังกูพ่อสูเจ้า เจ้าก็ป้านแปงเมือง บุญผู้ใดมีหากได้นั่งบ้านสร้างเมือง อันกว้างขวางว่างใหญ่ บุญผู้ใดมีบ่มีหลาย หากจักได้อันที่แคบขันอันชะแลกปันให้สูเจ้าดังนี้ ภายหน้าผู้ใดอย่าโลภตัณหาอิจฉามักมาก และเอารี้พลช้างม้าไปตกแดน เอาหอกดาบแขนแพนไปตกท่ง แล้วรบเลวเอาบ้านเมืองกันดังนี้ ให้ผู้นั้นพินาศฉิบหาย ทำอันใดอย่าให้เป็น เข็นอันใดอย่าให้ได้ ปลูกไม้อย่าทันตาย ปลูกหวาย อย่าทันล่อน ข้อม่อนอย่าให้รี ปีมันอย่าให้กว้าง เทียวทางให้ฟ้าผ่า เมือป่าให้เสือกิน ไปทางน้ำให้เงือกท่อเรือฉก ไปทางบกให้เสือท่อม้ากินมัน เมืองอ้ายไว้แก่อ้าย เมืองน้องไว้แก่น้อง อย่าทำร้ายเบียดเบียนกัน อย่าผิดข้องข่มเหงเอาก็พ่อเทอญ ." การที่จะกล่าวถึงชนเผ่าภูไทหรือ ผู้ไทย โดยไม่กล่าวถึงอาณาจักรลาวเลย น่าจะไม่ถูกต้อง เนื่องเพราะทั้งคนลาวก็ดี คนผู้ไทย คนไทย คนญ้อ คนพวน คนข่า คนจีน ฯลฯ ล้วนเป็นชนชาติที่เคยอาศัยสร้างหลักฐานบ้านเรือนอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ในอดีต จนทำให้มีการหลอมรวมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี ศาสนา ความเชื่อที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ตลอดจนมีการมีการผสมเผ่าพันธุ์เข้าด้วยกัน ถ้าจะกล่าวโดยสรุปน่าจะกล่าวว่า พวกเรามีสายเลือดสายโลหิต เชื้อสายหรือโคตรเหง้าบรรพบุรุษเดียวกันนั่นเอง คือ พวกเราทั้งชนชาติไทย ลาว ผู้ไทย ญ้อ พวน จีน เวียตนาม พม่า ตลอดจนชนเผ่าต่างๆในอินโดจีน ล้วนแต่เป็นลูกหลาน ขุนบรมราชาธิราช ด้วยกันทั้งสิ้น |