ประเพณีกินดอง

     กินดอง เป็นภาษาผู้ไทย แปลว่า การแต่งงาน หญิงชายเมื่อรักใคร่ชอบพอกันแล้ว หากต้องการจะแต่งด้วยฝ่ายหญิง จะปฏิบัติดังนี้

    1.ฝ่ายชายจัดหา ล่าม ( ผู้ใหญ่ ) ไปสู่ขอ กับลุงตาพาข้าว ฝ่ายหญิง โดยเตรียมอุปกรณ์ -ขันดอกไม้ ธูปเทียน 1 คู่ -เหล้า 1 ขวด -เงิน 10 บาท ( ปัจจุบันอาจเปลี่ยนแปลง ) -ของฝากและของหมาย

    2.การสู่ขอตกลงกันได้ จะมีการมอบของหมาย และสับของฝาก ที่ฝ่ายชายมอบให้ฝ่ายหญิงแจกญาติพี่น้องที่มาร่วมในพิธี ของหมาย-กะหยังสานด้วยไม้ไผ่ลวดลายสวยงาม (เอาไว้ให้คู่บ่าวสาวไปไร่นา) ใส่ผ้าขาว 1 วา (ไว้เป็นผ้าอ้อมเวลาลูกเกิดต้องเอาผ้านี้รองรับ) หมาก 8 พลู 8 ทำเป็นตับ ๆ ของฝาก-เป็นไม้ขีดไฟคนละกลัก หรืออาจเป็นเงินคนละ 1 บาท, 10 บาท, 20 บาท ( แล้วแต่ฝ่ายชายจะจัดให้ )

    3. วันแต่งงาน แห่เจ้าบ่าว ไปบ้านเจ้าสาว เพื่อผูกแขนบายศรีสู่ขวัญ ขบวนแห่เจ้าบ่าว -เพื่อนเจ้าบ่าวกางร่มให้เจ้าบ่าว - พานบายศรี 1 พาน ( ผู้ถือ 1 คู่ พานบายศรี เลือกผู้ที่มีครอบครัวสมบูรณ์ ไม่เล่นการพนัน ไม่เจ้าชู้สู่ชาย ) - พานขันหมาก และทองหมั้น - ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ขวด เงิน 10 บาท ( อุปกรณ์ล่าม ) - อุปกรณ์เครื่องนอนอย่างละ 1 ชิ้น เช่น เสื่อ ที่นอน ผ้าห่ม หมอน - ติดตามด้วยขบวนญาติพี่น้อง

    4. ขั้นตอนในพิธีแต่งงาน

        1.ขบวนเจ้าบ่าวถึงบ้านฝ่ายสาว จะผ่านประตูเงิน ประตูทอง น้องสาวฝ่ายหญิงจะใช้น้ำอบน้ำหอมที่เตรียมไว้ล้างเท้าเจ้าบ่าว แล้วจูงเจ้าบ่าวส่งให้ผู้ใหญ่ในพิธี

        2.ฝ่ายหญิงจะจูงเจ้าสาวออกจากห้องหอ มานั่งใกล้ฝ่ายชาย ตรงที่วางพานบายศรี

        3.ล่าม นำไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1ขวด เงิน 10 บาท ไปขอให้ลุงตาเฆี่ยนเขย ( สอน ) ก่อน ถ้าเขยรับคำเฆี่ยนได้ จึงยอมให้ หมอสูตรทำพิธีสูตรขวัญและผูกแขนบายศรี

        4.ลุงตาฝ่ายหญิงจะเฆี่ยนเขย มีข้อปฏิบัติอยู่ 14 ข้อ เรียกว่า คอง 14 ของเขย

        5.พิธีผูกแขนคู่ บ่าว-สาว

        6.ป้อนไข่ขวัญ

        7.ฟายเหล้า เป็นพิธีปัดเป่าเคราะห์กรรมที่มารังควาญในราศี และอวยพรคู่บ่าวสาว

        8.คู่บ่าวสาว นำของสมมา(รับไหว้) ญาติฝ่ายชายและล่าม ญาติฝ่ายชายจะรับไหว้ และมอบเงิน ทอง ให้คู่บ่าวสาวเป็นเงินก้นถุงและทุนในการตั้งตัว

        9.จูงแขนคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ โดยญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย-หญิง

        10.พิธีกรรมหลังจากนั้น คือ -บายศรีลุงตาพาข้าวฝ่ายหญิง -เลี้ยงเขยฝ่ายหญิงที่มาช่วยงานภาระต่าง ๆ -สู่ขวัญล่ามทั้ง 2 ฝ่าย มีไก่ต้ม 1 ตัว เสื่อ หมอน เงินฝ่ายละ 6 บาท -ต้านนาง คือ พิธีที่ขอเอาเจ้าสาวไปอยู่บ้านฝ่ายชาย-หญิง

5.พิธีเฆี่ยนเขย 1 มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวผู้ไทย ได้พิธีกรรมนี้มาจากวรรณคดีอีสานเรื่อง สังศิลป์ชัย ตอนยักษ์กุมภัณฑ์ ลักลอบเอานางสุมณฑาไปสู่สมโดยพลการ ท้าวศิลป์ชัย ท้าวสีโห และท้าวสังข์ทองไปรบเอานางสุมณฑาคืนมา ยักกุมภัณฑ์จึงมาขอขมาและแต่งงานโดยยอมเป็นเขยที่ดี ญาติ ๆฝ่ายนางสุมณฑา จึงกำหนดกติกาเฆี่ยนเขยเอาไว้ ชาวผู้ไทยจึงยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อมาเป็นสำนวนภาษาผู้ไทย