ตำบลตำบลนาโกอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
Poothai.20m.com Welcome to my Homepage เขียนโดย...สุชาติ ไชยสุข ต.นาโก อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
ผักหวานป่า
มาปลูกผักหวานป่าด้วยภูมิปัญญาแนวใหม่กันเถอะ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2542 ผู้เขียนได้เล่าเรื่องราวการไปดูสวนผักหวานป่า ที่เมืองลำพูน ณ "สวน 3 ฤดู" อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสวนของ "ลุงปรีชา กมล" ผู้ริเริ่มเพาะต้นกล้าผักหวานป่าด้วยเมล็ด และในบทความชิ้นดังกล่าวก็ได้เล่าให้ทราบถึงเคล็ดในการปลูกผักหวานป่าให้รอดโดยต้องไม่ทำให้รากของต้นกล้ากระทบกระเทือน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และหากจะใช้ปุ๋ยคอกก็ต้องเป็นปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายจนได้ที่แล้วและใช้เฉพาะที่ได้จากมูลวัวมูลควายเท่านั้น แล้วก็ยังทิ้งท้ายไว้ว่า "บอกกล่าวกันมาขนาดนี้แล้ว ก็หวังว่าเกษตรกรของเราคงจะสามารถปลูกผักหวานป่าให้รอดตายได้มากขึ้น ใครทดลองแล้วได้ผลเป็นประการใดก็ขอเชิญเผยแพร่ความรู้ให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ได้ทราบด้วย จะเป็นกุศลยิ่ง..." (ตีพิมพ์ใน "เทคโนโลยีชาวบ้าน" ฉบับปักษ์แรก 1 มีนาคม 2542) มาถึงในปีนี้ก็ได้ทราบข่าวดีจากเกษตรกรรายหนึ่งแห่งอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ว่า ได้สนใจและทดลองปลูกผักหวานป่ามานานราว ๆ 15 ปี พบว่า การที่จะปลูกผักหวานให้มีความเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ชะงักงันนั้น จะต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม มีการเพิ่มคุณภาพของดินที่เพาะปลูกด้วยปุ๋ยธรรมชาติ และไม่จำเป็นต้องไถพรวนหรือถากถางพื้นที่เพาะปลูกเดิมให้เตียนโล่งเสียก่อนเหมือนไม้เศรษฐกิจอื่น หากแต่สามารถปลูกต้นผักหวานป่าแซมลงไปตามโคนไม้พี่เลี้ยงเดิมในเชิง "วนเกษตร" ได้เลย เพราะผักหวานป่าเป็นไม้ที่ชอบเพื่อนชอบฝูง ไม่ชอบตั้งตัวอยู่เดี่ยว ๆ ตามลำพัง เรียกว่า เป็นไม้ที่รักใน "ระบบนิเวศน์" ว่างั้นเถอะ เพราะฉะนั้นใ น "เทคโนโลยีชาวบ้าน" ฉบับนี้เราจะลองมาศึกษาถึงวิธีการปลูกผักหวานป่า โดยใช้ "ภูมิปัญญาแนวใหม่" กัน นับเป็นความก้าวหน้าในเชิงปฏิบัติอีกขั้นหนึ่ง นายโอภาส ไชยจันทร์ดี อายุ 48 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 7 บ้านหนองอ้อน้อย ตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40310 คือเกษตรกรผู้ศึกษาวิธีการเพาะต้นกล้าผักหวานจากเมล็ดและทดลองเพาะปลูกผักหวานด้วยภูมิปัญญาแนวใหม่ที่ว่านั้น เขาได้เปิดเผยข้อมูลแก่ผู้เขียนว่า เดิมนั้นเขาประกอบอาชีพเป็นช่างกลโรงงานของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่ของลูกจ้างกินเงินเดือนมานาน 10 กว่าปี เกิดความเบื่อหน่ายในอาชีพดังกล่าวและต้องการจะออกมาประกอบอาชีพอิสระเป็นไทแก่ตนเองบ้าง จึงลาออกจากโรงงานเดินทางไปยังอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบิดาพร้อมเงินออมจำนวนหนึ่งด้วยหัวใจที่เด็ดเดี่ยว (ทางภาคอีสานเขาเรียกว่า "โสตาย") เมื่อเป็นไทแก่ตัวแล้ว โอภาส ไชยจันทร์ดี ก็มองหาลู่ทางในการที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองในอนาคต โดยมุ่งไปที่อาชีพเกษตรกรรม ประจวบเหมาะกับที่พ่อและแม่ของเขาได้ยกที่ดินซึ่งเป็นที่รกร้างเหมาะที่จะใช้เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ สภาพเป็นดินลูกรังปนดินเหนียว พื้นที่ประมาณ 30 กว่าไร่ ให้ทำกิน เขาจึงได้เริ่มทำการเกษตรด้วยการเพาะปลูกมะขามหวาน พันธุ์ดี มะม่วง และไม้สัก ที่เหลือปล่อยเป็นป่าอนุรักษ์ ปรากฏว่ามะขามหวานให้ผลผลิตดีพอสมควร แต่ผลผลิตในท้องตลาดก็มีมากทำให้ราคาตก ทำรายได้ไม่ค่อยเป็นกอบเป็นกำอะไรนัก และยังไม่เป็นที่พอใจแก่โอภาสมากนัก เขายังมีความปรารถนาที่จะหาสินค้าเกษตรตัวอื่นที่มีความยั่งยืนมากกว่า และผักหวานป่าก็เป็นพืชผักพื้นบ้านในความสนใจและท้าทายต่อการเรียนรู้ของเขา เขาจึงเริ่มศึกษาข้อมูลการเพาะปลูกและทดลองปลูกผักหวานป่ามาตั้งแต่ 15 ปีก่อน (คงจะเริ่มราว ๆ ปี พ.ศ. 2531) การศึกษาและลงมือปฏิบัติเรื่องการปลูกผักหวานป่าของ โอภาส ไชยจันทร์ดี พอจะกล่าวได้ว่าระยะ 5 ปีแรก เป็นช่วงของความล้มเหลว 5 ปี ถัดมา สามารถเพาะต้นกล้าจากเมล็ดจนงอกได้สำเร็จราว 50% แต่เมื่อนำเอาต้นกล้าไปปลูกลงบนแปลงใหญ่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้นกล้ามักจะตายภายหลังหรือไม่ก็มักแคระแกร็น ไม่ทำให้คนปลูกชื่นใจแต่อย่างใด จนตกมาในช่วง 5 ปี สุดท้าย เขาจึงได้พบความสำเร็จ กล่าวคือ สามารถเพาะต้นกล้าจากเมล็ดได้รอดเกือบ 100% และเมื่อนำต้นกล้าไปปลูกลงในแปลงก็ได้ต้นที่รอดตายและลำต้นก็มีความเจริญเติบโตดีและสม่ำเสมอ จนปัจจุบันนี้ในสวนต้นแบบของเขามีผักหวานป่าอายุ 1-10 ปี เป็นจำนวนมากกว่า 10,000 ต้น อีกทั้งยังมีต้นกล้าผักหวานที่เพาะไว้ในถุงดำอีกมากมาย นอกจากนี้ เขายังได้ริเริ่มก่อตั้ง "กลุ่มผักหวาน 44" ขึ้นมาอีกด้วย สมาชิกเริ่มแรกเพียง 10 คน แต่มาถึงปัจจุบันนี้มีเพิ่มขึ้นเป็น 55 คนแล้ว สมาชิกแต่ละคนต่างก็ปลูกผักหวานกันคนละ 100-10,000 ต้น ทุกคนมีความรู้ในการเพาะต้นกล้าผักหวาน และสามารถปลูกผักหวานแนวใหม่ให้รอดและเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เราจะลองมาติดตามดูภูมิปัญญาที่ โอภาส ไชยจันทร์ดี ได้ค้นพบและถือเป็น "เคล็ดลับ" ซึ่งแตกต่างจากความรู้เดิม ๆ ที่เราเคยรับทราบกันมา อันที่จริงแล้ว ความรู้เหล่านี้ก็เป็นเรื่องหรือสภาพที่เกิดขึ้นแล้วตามธรรมชาติ แต่มนุษย์เราอาจจะมองข้ามไปเสียและนึกไม่ถึง การที่โอภาสใช้ความอุตสาหะและความช่างสังเกตจนได้ทราบถึงเคล็ดดังกล่าว ก็ต้องนับว่าเขาเป็นผู้ที่ค้นพบความจริงที่ว่านั้น ซึ่งเราจะเรียกเคล็ดลับที่ว่านี้ว่า "ภูมิปัญญาแนวใหม่" การที่เกษตรกรจะรับรู้ไว้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์ หรือหากใครอยากจะปลูกผักหวานป่าเป็นอาชีพ ก็อาจจะไปศึกษาดูงานและสอบถามเกษตรกรรายนี้ได้ ดีกว่าการเริ่มลงมือปลูกโดยขาด "องค์ความรู้" อย่างสิ้นเชิงเป็นไหน ๆ ภูมิปัญญาแนวใหม่ในการปลูกผักหวานของ โอภาส ไชยจันทร์ดี พอจะสรุปได้เป็นประเด็นที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้ 1. การปลูกผักหวานป่าสามารถจะปลูกได้ทั้งวิธีหยอดด้วยเมล็ดลงแปลงเลย หรือเพาะเมล็ดลงในถุงดำแล้วจึงย้ายไปปลูกร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่น 2. ผักหวานป่าเป็นไม้ที่ชอบยืนต้นร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่น มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (ป่า) ค่อนข้างชัดเจน ในการหยอดเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าสามารถหยอดลงใกล้ชิดกับต้นไม้พี่เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ได้ โดยไม่ต้องเกรงว่าจะถูกแย่งอาหาร แม้แต่การเพาะต้นกล้าในถุงดำก็ควรจะเพาะร่วมกับกล้าไม้ชนิดอื่นในถุงเดียวกัน เมื่อนำไปปลูกก็ปลูกในหลุมเดียวกันซึ่งจะมีการเจริญเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ ดีกว่าการปลูกผักหวานลงไปเดี่ยว ๆ เพียงชนิดเดียว ต้นไม้ที่ โอภาส ไชยจันทร์ดี ทดลองปลูกเป็นพี่เลี้ยงกับต้นผักหวาน ได้แก่ ต้นตะขบ ต้นน้อยหน่า ต้นมะขามหวาน มะม่วง ไม้สัก และไม้ชนิดอื่น ๆ ที่เกิดเองตามธรรมชาติ นั่นแสดงว่า ผักหวานเป็นไม้ที่เหมาะจะนำไปปลูกในสวนป่าตามแนวของ "วนเกษตร" ได้อย่างดี ไม่จำเป็นต้องรื้อสวนเดิมทิ้ง นับเป็นไม้เพื่อการอนุรักษ์และเป็นไม้ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจควบคู่กันไป 3. ผักหวานป่าเป็นไม้ที่ชอบสังคม หากเป็นสัตว์ก็คงคล้าย ๆ กับมนุษย์ มด และปลวก โอภาส ไชยจันทร์ดี ถึงกับกล่าวว่า "เป็นไม้ที่ชอบพี่ชอบน้อง" และมีช่วงเวลาหลับและเวลาตื่น กล่าวคือ จะเจริญเติบโต แตกกิ่งก้านได้ดีในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน แต่จะหลับและหยุดการเจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน นับเป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน 4. สภาพดินที่จะปลูกผักหวานป่าได้งอกงามนั้น ควรจะมีการปรับสภาพหรือเสริมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่เขาเรียกว่า "ปุ๋ยอสุภ" ซึ่งแท้ที่จริงเจ้าปุ๋ยอสุภที่ว่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งลี้ลับแต่อย่างไร เป็นเพียงปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากมนุษย์เหมือนกับที่คนจีน (ที่ปลูกผัก) ยุคเก่าก่อนเคยทำมาแล้วนั่นเอง นั่นคือ ใช้มูลคน (ผสมน้ำในอัตราที่เหมาะสม) รดในพื้นที่ที่เป็นแปลงปลูกผักหวานเป็นระยะ ๆ จะทำให้ผักหวานมีลำต้นแข็งแรง ใบสีเขียวเป็นมันจนน่าจะเรียกว่า "ผักหวานยักษ์" เลยทีเดียว เมื่อลองวัดใบผักหวานตัวอย่างดู พบว่ามีความกว้างถึง 9.5 ซ.ม. และความยาวถึง 16 ซ.ม. นับเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ ผู้เขียนยังไม่เคยพบผักหวานป่าที่ไหนใบใหญ่ขนาดนี้ พืชที่ชอบปุ๋ยอสุภในลักษณะเดียวกันนี้ที่ผู้เขียนเคยพบมาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ก็ได้แก่ ผักชะอม (อีสานเรียก "ผักขา" แต่ภาคเหนือเรียก "ผักหละ") เพราะมีหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ที่เพาะปลูกผักชะอมจากเมล็ดแล้วเก็บยอดขายในช่วงฤดูแล้งได้ราคาดี โดยชาวบ้านจะใช้ปุ๋ยจากส้วมผสมน้ำรดโคนต้นชะอมแล้วใช้ฟางแห้งคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นเอาไว้ ทำให้ชะอมแตกยอดงอกงามให้เก็บขายได้ตลอดช่วงฤดูหนาวไปจนถึงฤดูแล้งเลยทีเดียว ผักหวานป่าก็คงจะชอบปุ๋ยอสุภในทำนองเดียวกัน การให้ปุ๋ยดังกล่าวควรจะให้ในฤดูแล้ง โดยไม่ต้องกลัวว่าดินจะเค็ม ยิ่งใส่บ่อยจะทำให้ยิ่งงาม เราจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 1 เดือน สภาพดินที่ไม่เคยมีไส้เดือนก็จะมีไส้เดือนตัวโต ๆ มากมาย อันเป็นเครื่องชี้ว่าดินแปลงนั้นดีขึ้นมาก แต่ส่วนตัวของผู้เขียนเองนั้นเห็นว่าควรจะใส่ปุ๋ยแต่พอดี ๆ อย่ามากเกินไป ต้นกล้าผักหวานที่จะนำลงปลูกบนแปลงนั้น ไม่ควรเพาะไว้นานเกิน 1 ปี เพราะหากเกิน 1 ปี จะทำให้ราก "นั่งแท่น" เมื่อปลูกแล้วจะเกิดการชะงักงัน การปลูกผักหวานตามแนวทางที่ โอภาส ไชยจันทร์ดี แนะนำดังกล่าวนี้ เขาว่าในพื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกผักหวานป่าได้ราว 500 ต้น เพียง 4-5 ปี ก็จะสามารถเก็บยอดขายได้ อีกทั้งจะมีการแตกต้นเพิ่มขึ้นได้อีกตามรากของต้นแม่ ซึ่งในอนาคตหากมีผู้เพาะปลูกผักหวานเป็นพื้นที่มากขึ้น เกษตรกรก็สามารถจะรวมตัวกันรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูปเชิงสินค้า "เกษตรอุตสาหกรรม" ได้ เช่น ทำผักหวานลวกอบแห้ง ใบแก่นำมาแปรรูปเป็นใบชาผักหวาน เป็นต้น ผักหวานป่า นับเป็นไม้ที่ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ยาก เพราะเหลือประชากรต้นแม่อยู่น้อย เมล็ดพันธุ์หายาก เมล็ดจะสุกไม่พร้อมกันในแต่ละภาคแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่จะแก่และสุกในระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี และเมื่อเมล็ดสุกแล้วจะร่วงหมดต้นภายใน 1 เดือน เมล็ดที่จะนำมาเพาะได้ดีต้องเป็นเมล็ดที่เก็บจากต้นไม่เกิน 7 วัน หากนานกว่านั้นก็มักจะเพาะไม่ขึ้น 5. ผักหวานป่าต้องนับเป็นพืชผักที่จัดเป็นพวกปลอดสารพิษ เพราะเป็นพืชที่ไม่ชอบปุ๋ยเคมีหรือสารกำจัดแมลง หากพื้นที่ใดใช้สารเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ผักหวานป่าจะไม่เจริญเติบโตหรืออาจจะเฉาตายได้ อุปนิสัยดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่เกษตรกรควรจะทราบเอาไว้ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ยุคที่ชาวโลกกำลังให้ความสำคัญแก่ "อาหารประเภทเกษตรอินทรีย์" (ออร์แกนิกฟู้ด) อีกทั้งจะทำให้ผักชนิดนี้มีต้นทุนต่ำอีกด้วย จากข้อสังเกตของ โอภาส ไชยจันทร์ดี เขาบอกว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เขามีธรรมชาติเป็นครูและโรงเรียนนั้น เขาพบว่า ผักหวานป่าจะอยู่ที่ชั้น 3-4 จากพื้นดินในแหล่งเกิดที่เป็นภูเขา และมีต้นไม้สูงและต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ โดยผักหวานจะอาศัยร่มเงาของไม้ใหญ่อีกทีหนึ่ง มันจะออกยอดให้เก็บได้ทุกปี เป็นไม้ที่ชอบสภาพอากาศถ่ายเทได้สะดวก ชื้นเกินไปก็ไม่ชอบ แดดจัดเกินไปก็ไม่ชอบ ฉะนั้น เกษตรกรที่ต้องการปลูกผักหวานควรต้องเตรียมความพร้อมด้วยการปลูกต้นไม้พี่เลี้ยงเสียก่อน หรือหากมีอยู่เดิมแล้วก็ไม่ต้องไปเผาป่าหรือวัชพืชแต่อย่างใด เขาถึงกับกล่าวว่า "ที่ยิ่งรก ผักหวานยิ่งชอบ" ปัจจุบันนี้ โอภาส ไชยจันทร์ดี ได้จดทะเบียน "ความลับทางการค้า" ประเภทข้อมูลการค้าด้านอุตสาหกรรม ชื่อเรื่อง "การปลูกผักหวานป่าเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรมและเพาะต้นกล้าจำหน่าย" ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2546 ที่ผ่านมา แต่เขาก็ไม่ได้หวังร่ำหวังรวย ยังรำลึกถึง "ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์อย่างยิ่งในภายภาคหน้า" อยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะเผื่อแผ่ความรู้แก่เกษตรกรรายอื่นเป็นวิทยาทานด้วยความเต็มใจ ผู้ที่สนใจในการปลูกผักหวานป่าจะติดต่อซื้อต้นกล้าหรือติดต่อขอชมแปลงของจริงได้ทางโทรศัพท์หมายเลข (043) 373-152 สำหรับเกษตรกรทั่วไปคิดราคาต้นกล้า ต้นละ 15-20 บาท โดยต้นกล้าดังกล่าวจะไม่มีการนำไปเร่ขายในสถานที่อื่นใด หากสั่งซื้อจำนวนมากก็จะมีบริการส่งให้จนถึงที่ แต่ก่อนจะลงมือปลูกจริง ขอแนะนำว่าควรจะไปดูวิธีการปลูกและรับทราบข้อมูลของจริงด้วยตนเองก่อนที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ตามที่อยู่ข้างต้น นี่คือ เรื่องราวของผักหวานป่า ที่ปัจจุบันหาซื้อได้เฉพาะในบางฤดูกาล (มีนาคม-เมษายน) เท่านั้น หากเกษตรกรไทยสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตผักหวานป่าได้มากขึ้น เราคงจะมีโอกาสได้รับประทานแกงอ่อมหรือแกงเลียงผักหวานกับไข่มดแดงหรือกับปลาย่างได้ตลอดทั้งปีในอนาคต และเกษตรกรไทยก็จะมีหนทางในการสร้างรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง แนวทางในการปลูกผักหวานป่าด้วยภูมิปัญญาแนวใหม่ของ โอภาส ไชยจันทร์ดี ที่บอกกล่าวกันมานี้คงจะยังไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย" อย่างแน่นอน เกษตรกรที่รักและศรัทธาในพืชผักชนิดนี้คงจะต้องทดสอบและพิสูจน์บทเรียนด้วยตนเองเพิ่มเติมอีก เมื่อหลาย ๆ คนช่วยกันทดลองและทดสอบแล้ว ในที่สุดก็คงจะพบ "คำตอบสุดท้าย" ได้ในไม่ช้า ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเองนั้น การปรับปรุงสภาพของดินที่ใช้ในการปลูกผักหวานป่าย่อมเป็นสิ่งจำเป็น แต่น่าจะจำเป็นมากก็เฉพาะในช่วงแรก ๆ ที่ช่วยให้ผักหวานสามารถตั้งตัวได้เท่านั้น การบำรุงต้นผักหวานป่าให้เติบโตจนเกินไปจะส่งผลทำให้รูปลักษณ์ภายนอกและขนาดของใบและยอดผักหวานป่าเปลี่ยนเป็นผักหวานยักษ์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อรสนิยมของคนกินก็อาจจะเป็นได้ เนื่องจากคนทั่วไปจะนิยมยอดผักหวาน ที่มีใบและยอดสีขาวเหลืองมีความใสเป็นเงางาม หากพบผักหวาน ที่มียอดค่อนไปทางสีเขียวจัดและมียอดใหญ่โตมโหฬารเข้า อาจจะเกิดความงุนงงสงสัยและนึกว่าไม่ใช่ยอดผักหวาน ไปก็ได้ แง่คิดอีกประการหนึ่งก็คือ การที่เราปล่อยให้ต้นผักหวานเติบโตไปในแนวตั้งสูงชะลูดขึ้นไป ในระยะยาวอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการเก็บเกี่ยวยอดผักหวานก็ได้ หากเรามุ่งหวังผลผลิตยอดเป็นสำคัญก็น่าจะต้องมีการตัดแต่งกิ่งหรือยอดเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ผักหวานแตกพุ่มและให้ผลผลิตเป็นยอดอ่อนได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะเก็บเกี่ยวยอดได้ง่ายกว่าต้นที่สูงอีกด้วย เมื่อได้สอบถามเหตุผลจากคุณโอภาส ไชยจันทร์ดี ถึงการที่ปล่อยให้ต้นผักหวานสูงชะลูดขึ้นไป ก็ได้คำตอบว่า ต้องการให้ต้นสูงเร็ว ๆ เพื่อจะได้ออกดอกและสามารถเก็บเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์เป็นต้นกล้าผักหวานได้เร็วขึ้น ก็นับว่าเป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง นี่คือ เรื่องราวของการปลูกผักหวานแนวใหม่ที่นำมาฝากพี่น้องเกษตรกรไทยในฉบับนี้ ขอขอบคุณ คุณโอภาส ไชยจันทร์ดี ที่เผื่อแผ่ความรู้ดี ๆ เป็น "วิทยาทาน" แก่เพื่อนเกษตรกรรายอื่น ขอให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการทำสวนผักหวานต่อไป
ข้อมูลจาก เทคโนโลยีชาวบ้าน วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ปีที่ 15 ฉบับที่ 310
ข้อมูล การปลูกผักหวานป่าอีกที่นี่
วันที่ปรับปรุงข้อมูล : 24 พ.ค 2546